
- Moo We เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 08:45 น.
- 2,088 view
ทำไงดีเมื่อต้องถูกรัฐเวนคืนที่ดิน !
ความคึกคักของโครงการสร้างเครือข่ายคมนาคมทางบกมากมายกำลังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่กำลังจะตามมาแน่นอนว่าจะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปทำโครงการ ผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินจะต้องทำอย่างไร เมื่อที่ดินของตนอยู่ในแนวเขตที่ต้องถูกเวนคืน !
ความคึกคักของโครงการสร้างเครือข่ายคมนาคมทางบกมากมายกำลังเกิดขึ้น แผนงานการสร้างถนนหนทางที่ค้างท่ออยู่มากมายหลากหลายโครงการกำลังถูกนำมาจัดการดำเนินงานกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟรางคู่ หรือ การศึกษาการสร้างรถไฟความเร็วสูง การตัดถนนเพิ่มใหม่สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดต่างๆ เรื่องเหล่านี้แน่นอนว่าส่งผลต่อแวดวงธุรกิจอสังหาฯ แน่ๆ เพราะทิ่ดินที่มีถนนเส้นใหญ่ตัดผ่าน ราคาที่ดินต้องขยับสูงขึ้น ราคาประเมินเพิ่มขึ้น และบางแห่งกลายเป็นจุดน่าลงทุนที่น่าสนใจใหม่ๆ ของผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ย่อมนำมาซึ่งความคึกคักของแวดวงอสังหาฯ แน่นอน แต่... จะมีแต่ผลได้ผลดีไปทั้งหมดเป็นที่พออกพอใจไปทุกคนนั้นเห็นจะไม่มี !
เพราะเราไม่อาจลืมได้ว่าเมื่อมีสร้างทางตัดถนนเส้นใหม่ มันต้องใช้พื้นที่ และพื้นที่ ที่จะเอามาสร้างถนนหรือเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ บางทีมันก็ผ่าผ่านตัดเฉือนเข้าไปในที่ดินของผู้คน ซึ่งหากต้องผ่านเข้าไปในที่ดินที่มีเจ้าของก็จะมีการประกาศ “เวนคืนที่ดิน”
การเวนคืนที่ดิน นั้นใช้กฎหมายใน พ.ร.บ.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการเวนคืน และการชดเชยให้กับผู้ที่ต้องถูกเวนคืนที่ดินเอาไว้
การเวนคืนที่ดินนั้น เมื่อรัฐมีโครงการใดๆ ที่ต้องใช้พื้นที่ ที่เป็นของประชาชน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการนั้นๆ ที่จะเป็นผู้ขอใช้ที่ดิน “จะต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมาติดต่อเพื่อขอรับเงินค่าชดเชยราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนจากรัฐภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง” และเจ้าของที่ดินจะต้อมาทำสัญญากับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการเวนคืน หากพอใจและไม่ขัดข้องใดๆ ก็เป็นอันเรียบร้อย แต่... ไม่ใช่ทุกรายทุกกรณีที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะโดยทั่วไปเป็นที่ทราบกันว่าราคาที่จะได้รับการชดเชยในการเวนคืนที่ดินจากรัฐนั้นจะเป็นราคาที่พบได้บ่อยว่าต่ำกว่าราคาตลาด ! ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าเจ้าของที่ดินที่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนจากการถูกเวนคืนที่ดินไม่พอใจในราคาที่ได้รับ
ซึ่งในกรณีที่ไม่พอใจเจ้าของที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นๆ มีสิทธิสามารถ “ยื่นอุทธรณ์” ในเรื่องราคาค่าชดเชยได้ ด้วยการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ โดยสามารถทำสัญญาที่มีเงื่อนไขขอ “สงวนสิทธิ์” ยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบ ซึ่งการ ยื่นอุทธรณ์นี้จะต้องทำภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินทดแทน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วรัฐก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเกี่ยวกับราคาค่าชดเชย หากว่าคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นควรก็จะมีการเพิ่มค่าชดเชยให้ แต่หากภายใน 60 วันตามกรอบเวลาข้างต้นผ่านไปแล้วการพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่เสร็จ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน เจ้าของสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายใน 1 ปี
แต่อย่างไรก็ตามขอให้ทราบว่า แม้ว่าผู้ที่ถูกเวนคืนจะไม่พอใจในค่าชดเชยที่ได้รับ ก็ไม่สามารถไปขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการเวนคืนได้ !!! การเวนคืนที่ดินยังคงดำเนินต่อไปตามกฎหมายและตามเวลาในการทำโครงการ ดังนั้นการขอค่าชดเชยเพิ่มแม้ทำได้ แต่ก็เป็นไปตามกรอบราคาที่รัฐกำหนด ไม่สามารถได้ราคาตามความพอใจได้ทั้งหมด
ดังนั้นเมื่อทราบว่ามีโครงการในละแวกที่ดินที่อยู่อาศัยที่เราเป็นเจ้าของ ก็ขอให้คอยติดตามรับฟังข่าว เพราะก่อนทำโครงการใดๆ ของรัฐจะมีการลงพื้นที่ทำการศึกษาและเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพียงแต่... โดยทั่วไปต้องยอมรับกันว่าข่าวสารและการสื่อการมักไม่ทั่วถึง ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าว ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และการสร้างถนนหรือเส้นทางคมนาคมเป็นการทำเพื่อสาธารณะ เป็นสมบัติของทุกคนเป็นของส่วนรวมก็อาจจะต้องยอมรับในการเสียสละ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย มีหลายกรณีที่เมื่อมีการตัดถนนผ่านและเวนคืน ทำให้ที่ดินในส่วนที่เหลือมีราคาเพิ่มขึ้นมหาศาล เป็นที่หมายปองและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว !
ความคิดเห็น
ดูอีก 0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น ...